ญี่ปุ่นเร่งป้องกันภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังปล่อยกัมมันตรังสีลดแรงดันหอปฏิกรณ์

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

เอเอฟพี - ญีปุ่นเร่งป้องกันอุบัติเหตุร้ายแรงอันจะเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าปรมาณู 2 แห่ง ซึ่งระบบหล่อเย็นของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ล้มเหลว หลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดในรอบ 140 ปี ขณะที่ทางการก็รีบอพยพชาวบ้านหลายหมื่นคนออกจากพื้นที่แล้ว
       โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้คือ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ทั้งคู่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว ห่างออกไปประมาณ 250 กิโลเมตร
       ทั้งนี้มีการตรวจพบกัมมันตภาพรังสีที่สูงกว่าปกติถึง 1,000 เท่าในห้องควบคุมความเย็นของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง แม้ว่าเจ้าหน้าที่ชี้ว่าระดับรังสีดังกล่าวภายนอกโรงไฟฟ้าจะสูงกว่าปกติ เพียง 8 เท่า และยืนยันว่า "ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายในทันที"
       โตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์ ซึ่งดำเนินกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เผยว่า ทางบริษัทได้ปล่อยไอกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าหมายเลข 1 ออกสู่บรรยากาศ เพื่อลดแรงดันในอาคารปฏิกรณ์ปรมาณู พร้อมกับยืนกรานว่าการกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดอันตราย
       ขณะที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านปรมาณู ท่ามกลางความกังวลของนานาชาติที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง หลังแผ่นดินไหวระดับ 8.9 ซึ่งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มหลายพื้นที่ รวมถึงโรงไฟฟ้าทั้งสองด้วย
       ด้านฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า กองทัพอากาศ ที่ประจำการอยู่ในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น ได้ส่งตัวทำความเย็นไปยังโรงงานนิวเคลียร์แห่งหนึ่ง โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นที่ไหน
       ส่วนการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ก็ยังขยายวงกว้างขึ้นอีก จากเดิมที่มีคำแนะนำให้ชาวบ้านในรัศมี 3 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าหมายเลข 1 ซึ่งมีจำนวนไม่ถึง 6,000 คนอพยพออกจากพื้นที่ ในวันศุกร์ (11) ที่ผ่านมา ได้เพิ่มรัศมีเป็น 10 กิโลเมตร ซึ่งมีจำนวนรวมราว 45,000 คน
       นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังสั่งให้อพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าหมายเลข 2 ออกจากพื้นที่ โดยที่ประชาชนในรัศมีไกลกว่านั้นจนถึง 10 กิโลเมตรได้รับคำแนะนำให้อยู่แต่ในบ้าน เนื่องจากยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาของหอหล่อเย็น