3อภิมหาเศรษฐีไทยติดอันดับโลก ยังคนหน้าเดิม'ธนินท์-เฉลียว-เจริญ'

ฟอร์บส์/ASTVผู้จัดการรายวัน - ในรายชื่ออภิมหาเศรษฐีทั่วโลกที่มีทรัพย์สินความมั่งคั่งตั้งแต่ 1,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป (Billionaire) ประจำปีนี้ ตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ และนำออกเผยแพร่เมื่อวันพุธ(9)ปรากฏว่ามีคนไทยอยู่ 3 คน ได้แก่ 

อันดับ 152 ธนินท์ เจียรวนนท์ และครอบครัว ทรัพย์สิน: $6,500ล. ธุรกิจหลากหลาย
       ธนันท์ วัย 71 ปี เป็นผู้ดูแลกลุ่มเครือข่ายธุรกิจเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยบิดาของเขา และในตอนแรกๆ ยังเป็นกิจการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชรายเล็กๆ ในกรุงเทพฯ สำหรับรอบปีที่ผ่านมา หุ้นของ 3 กิจการซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นใหญ่ที่สุด อันได้แก่ ซีพี ออลล์ ผู้ดำเนินงานร้านเซเว่นอีเลฟเว่น, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ), และ พีที เจริญโภคภัณฑ์ ต่างก็มีราคาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว โดยที่ ซีพี ออลล์นั้น สามารถทำผลกำไรได้สูงขึ้นมากและขยายกิจการอย่างประสบความสำเร็จ ส่วนอีก 2 บริษัทที่เป็นกิจการด้านอาหารนั้น ได้แรงอุปสงค์จากจีน ตลอดจนสามารถขายอาหารที่มีอัตราผลกำไรสูง นอกจากนั้น เครือธุรกิจนี้ยังเป็นเจ้าของบริษัทผู้ดำเนินการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ อันดับ 3 ของไทย ซึ่งเพิ่งเข้าเทคโอวเอร์กิจการในประเทศไทยของ ฮัทชิสัน เทเลคอม
       ครอบครัวนี้บริจาคเงินเพื่อการกุศลทั้งในรูปของการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามในประเทศไทย, อุปถัมภ์โรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า
       ทรัพย์สมบัติของพี่ชายน้องชาย 3 คนของเขา ซึ่งฟอร์บส์เชื่อว่าต่างมีฐานะอยู่ในระดับอภิมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ ได้นำมาคำนวณรวมกับมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของธนินท์
อันดับ 208 เฉลียว อยู่วิทยา ทรัพย์สิน: $5,000ล. กิจการหลัก: เครื่องดื่มกระทิงแดง
       เฉลียวซึ่งปัจจุบันมีอายุ 79 ปี เป็นผู้ก่อตั้ง ทีซี ฟาร์มาซูติคอลส์ ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังของไทย เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน เขาร่วมมือกับ ดีทริช มาเตชิตซ์ ชาวออสเตรีย ในการสร้างเครื่องดื่มชูกำลัง “เรด บูล” ขึ้นมา โดยที่เฉลียวลงขันด้วยสูตรเครื่องดื่ม ขณะที่หุ้นส่วนชาวออสเตรียของเขาดำเนินงานด้านการตลาด เวลานี้ เรด บูล ซึ่งมียอดขายปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์ วางแผนการที่จะขยายตลาดในจีนในปีนี้ หุ้นส่วนแต่ละฝ่ายต่างถือหุ้นในบริษัทฝ่ายละ 49% และเฉลิม อยู่วิทยา บุตรชายของเฉลียว ผู้เป็นเจ้าของ สยาม ไวเนอรี่ หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตไวน์ชั้นนำของเอเชีย เป็นผู้ถือหุ้นอีก 2% ที่เหลือ ครอบครัวนี้ยังได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงพยาบาลปิยะเวท ซึ่งเป็นกิจการที่อยู่นอกตลาดหุ้น
อันดับ 247 เจริญ สิริวัฒนภักดี ทรัพย์สิน: $4,300ล. ธุรกิจหลัก: เครื่องดื่ม
       เจริญที่เวลานี้อยู่ในวัย 66 ปี เป็นบุตรของผู้ค้าเร่ตามถนนในกรุงเทพฯ เขาสั่งสมความมั่งคั่งของเขาด้วยการจำหน่ายเบียร์และสุราราคาไม่แพง เขาเป็นผู้ควบคุมกิจการ ไทยเบฟ บริษัทผู้ผลิตเบียร์และสุรารายใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันดีที่สุดคือ เบียร์ช้าง เขานำบริษัทนี้ไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ในปี 2006 หลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วงชาวพุทธขัดขวางไม่ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท ทีซีซี แลนด์ ของเขาที่เป็นบริษัทนอกตลาดหุ้น เป็นเจ้าของ พันธุ์ทิพย์พลาซา ศูนย์การค้าด้านเทคโนโลยีชื่อดังในกรุงเทพฯ, โรงแรม โฮเท็ล พลาซา แอททินี ในแมนแฮตตัน นอกจากนั้นยังเป็นเจ้าของโรงแรมอื่นๆ ทั้งในเอเชีย, สหรัฐฯ, และออสเตรเลีย ตลอดจนเป็นเจ้าของอาคารที่พักอาศัย, อาคารด้านการพาณิชย์, และอาคารด้านการค้าปลีก ทั้งในสิงคโปร์และประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้าร่วมประมูลเพื่อซื้อกิจการในไทยของ คาร์ฟูส์ เครือข่ายค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศส ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ
**คนหน้าเดิมแต่อันดับสับเปลี่ยน**
       เมื่อเปรียบเทียบกับกับอันดับอภิมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ของโลก ประจำปีที่แล้ว ซึ่งนิตยสารฟอร์บนำออกมาเผยแพร่ในวันที่ 10 มีนาคม 2553 และ 40 อันดับมหาเศรษฐีในประเทศไทย ซึ่งฟอร์บส์เป็นผู้จัดทำเช่นเดียวกัน และนำออกเผยแพร่ในวันที่ 2 กันยายน 2553 ปรากฏว่า ทั้งนายธนินท์, นายเฉลียว, และนายเจริญ ติดอยู่ใน 3 อันดับแรกของการจัดอันดับทั้งสองครั้งนั้นเช่นกัน ทว่า ตำแหน่งมีการเปลี่ยนแปลงไป
       กล่าวคือ ในอันดับอภิมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ของโลกปีที่แล้ว นายเฉลียวติดอันดับสูงที่สุด คือ ที่ 208 มีทรัพย์สิน 4,100 ล้านดอลลาร์ ต่อด้วยนายเจริญ อยู่ในอันดับ 342 ด้วยความมั่งคั่ง 2,900 ล้านดอลลาร์ แล้วจึงเป็นนายธนินท์ อยู่ในอันดับ 463 มีทรัพย์สิน 2,100 ล้านดอลลาร์
       แต่พอถึงเดือนกันยายน ในการจัดอันดับมหาเศรษฐีในประเทศไทยของฟอร์บส์ นายธนินท์ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แล้ว โดยมีทรัพย์สิน 7,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นายวิทยา อยู่อันดับ 2 มีความร่ำรวยระดับ 4,200 ล้านดอลลาร์ และนายเจริญ อยู่ที่ 3 มีความมั่งคั่ง 4,150 ล้านดอลลาร์

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์