‘กัดดาฟี’ได้ชนเผ่า'ทัวเร็ก'เป็นกำลังกองหนุน

Fly me a Tuareg on time
By Pepe Escobar
       07/03/2011
ในสภาพที่ชนเผ่าแทบทั้งหมดของลิเบีย ต่างสมัครสมานสามัคคีกันต่อต้านมูฮัมมาร์ กัดดาฟี จึงมีรายงานข่าวว่า แอลจีเรียกำลังแสดงบทบาทในการช่วยเหลือขนเอาทหารรับจ้างจาก ไนเจอร์ และ ชาด ให้มาอยู่ทางฝ่ายเขา นอกจากนั้น จากการที่กัดดาฟีได้ทำการอุดหนุนจุนเจือการก่อกบฎของชาวทัวเร็กมานมนานหลาย สิบปีแล้ว บวกกับมนตร์เสน่ห์อันดึงดูดใจของเงินดอลลาร์ ในเวลานี้ชนเผ่าเร่ร่อนเหล่านี้จึงดูเหมือนกำลังยกขบวนเดินทางกันมาตามเส้น ทางบกอันสุดโหดเพื่อช่วยเหลือเขาอีกแรงหนึ่ง ทั้งนี้ภายใต้การดำเนินการของอดีตหัวหน้ากบฎที่บัดนี้พำนักอยู่ในลิเบีย
       อำนาจรัฐในกรุงตริโปลีฝ่ายหนึ่ง และรัฐบาลคู่ขนานที่จัดตั้งกันขึ้นมาโดยอิงอยู่กับชนเผ่า บวกด้วย “กองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นพิเศษ” (irregular militias) อีกฝ่ายหนึ่ง กำลังอยู่ในสภาพของการยันกัน ยังไม่ใช่แปรสภาพกลายเป็นสงครามกลางเมืองแล้ว แต่นี่ก็ทำให้การระบุตัวผู้เล่นสำคัญๆ ในลิเบียเป็นไปด้วยความลำบากยากเย็นมากขึ้นเรื่อยๆ
       ถนนสายยาวเหยียดพาดผ่านทะเลทรายจากเมืองเบงกาซี (Benghazi) ไปยังกรุงตริโปลี สำหรับฝ่ายต่อต้านกัดดาฟีแล้ว มันเป็นเสมือนสัญลักษณ์รูปธรรมของการขยับขยายจาก “การลุกฮือ” ไปสู่ “ชัยชนะ” ในเส้นทางอันยาวไกลราวๆ 1,000 กิโลเมตรนี้ มีจุดพักกลางทางที่สำคัญยิ่งยวด คือ เมืองซีระเตะห์ (Sirte) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของมูอัมมาร์ กัดดาฟี ถนนสายนี้คือถนนสายยาวเหยียดอย่างแน่นอน เว้นแต่จะมีอะไรบางอย่างบังเกิดขึ้นในสมรภูมิสุดท้ายในตริโปลี อย่างไรก็ดี เวลานี้ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่ากัดดาฟีกำลังจะยอมรับยุทธศาสตร์ตะวันออกกลางแบรนด์ใหม่ของคณะรัฐบาลบา รัค โอบามา ยุทธศาสตร์แบรนด์ที่ควรเรียกชื่อว่า “ระบอบปกครองเดิมแต่ปรับแต่งเปลี่ยนโฉมเสียหน่อย” (regime alteration)
       ทีนี้ลองมาสำรวจสนามรบกัน ชนเผ่าต่างๆ ในแคว้นไซเรไนซา (Cyrenaica) หรือภาคตะวันออกของลิเบีย มักเป็น “ฝันร้ายทางยุทธศาสตร์อันดับหนึ่ง” ของกัดดาฟีเสมอมา ยิ่งในตอนนี้ด้วยแล้ว ระบบการคัดเลือกผู้นำชนเผ่าในลักษณะเป็นกโลบายมุ่งกำจัดลดทอนปรปักษ์ (co-option of tribal leaders) ซึ่งกัดดาฟีได้เคยนำออกมาใช้อย่างฉาวโฉ่ ย่อมกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปเรียบร้อย
       เขายังอาจจะสามารถนับบางชนเผ่าทางภาคตะวันตกและภาคใต้ว่ายืนอยู่ข้าง เดียวกับเขา ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงเผ่าของเขาเอง ตลอดจนเผ่ามากอริฮอ (Magariha) ที่เป็นเผ่าของ อับเดลเบเซต อาลี โมเหม็ด อัล เมกรอฮี (Abdelbeset Ali Mohmed al Megrahi) มือวางระเบิดเครื่องบินโดยสารของสายการบินแพนแอม ที่ไประเบิดเหนือหมู่บ้านล็อกเคอบี (Lockerbie) ในสกอตแลนด์ ทว่าชนเผ่าส่วนใหญ่ (แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดทุกเผ่า) ต่างยังคงต่อต้านระบอบปกครองของเขา รวมทั้งชนเผ่าที่มีความเข้มแข็งที่สุดยิ่งกว่าเผ่าอื่นๆ อย่างเช่น วอร์ฟัลละห์ (Warfallah) ชนเผ่าที่มีอิทธิพลสูงในกองทัพลิเบีย, ซอวิยะ (Zawiya) ซึ่งปักหลักอยู่ทางภาคตะวันออกที่อุดมด้วยน้ำมัน, บานี วาลิด (Bani Walid) ชนเผ่าที่ยุติไม่ให้ความร่วมมือกับพวกจ้าหน้าที่ความมั่นคงไปแล้ว, และชนเผ่า ซินตัน (Zintan) ซึ่งเมื่อก่อนเคยจับมือเป็นพันธมิตรกับเผ่าของกัดดาฟี
       ถ้ากัดดาฟีล้มครืนลงไปเมื่อใด ก็แทบจะเป็นเรื่องแน่นอนแล้วว่า รัฐบาลชั่วคราวของลิเบียที่จะเกิดขึ้นมาแทนที่นั้น จะประกอบไปด้วยพวกผู้นำชนเผ่าต่างๆ ผสมผสานกัน เราอาจคาดหมายต่อไปได้ว่า พวกที่อยู่ในแถบนครหลวง (Tripolitania) ซึ่งมีการพัฒนามากกว่า จะเกิดการปะทะขัดแย้งกับพวกชาวแคว้นไซเรนาซา ซึ่งถูกทอดทิ้งละเลยมานมนานอีกคำรบหนึ่ง อันที่จริงชนเผ่าต่างๆ ในลิเบียก็ได้ต่อสู้ทำศึกสงครามกันเองมาหลายร้อยปีแล้ว ทำนองเดียวกับในอัฟกานิสถาน เพียงแต่ว่าในเวลานี้สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ ชนเผ่าส่วนใหญ่กำลังสามัคคีกันเพื่อต่อต้านศัตรูร่วมตัวเดียวกัน นั่นคือกัดดาฟี ผู้ประกาศตนเป็น “จอมราชันย์” (king of kings) แห่งทวีปแอฟริกา
**สมรภูมิแอลจีเรีย**
       ฝ่ายทหารในแอลจีเรียกำลังเฝ้าติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลิเบีย อย่างกระชั้นชิดทุกฝีก้าว เรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจอะไร เพราะถ้าหากกัดดาฟีล้มครืน แอลจีเรียก็น่าจะเป็นรายต่อไป ประเทศทั้งสองต่างก็เป็นมหาอำนาจทางด้านน้ำมัน/แก๊ส ทว่าความมั่งคั่งร่ำรวยที่ได้มาไม่ได้ถูกถ่ายโอนลงไปให้แก่ประชากรส่วนใหญ่ ของประเทศ และประชากรเหล่านี้กำลังรู้สึกสิ้นหวังมากขึ้นเรื่อยๆ
       มีข่าวลือแพร่กระจายไปทั่วว่า แอลจีเรียเป็นรัฐบาลหนึ่งเดียวในโลกเวลานี้ที่กำลังปฏิบัติการสนับสนุนกัดดา ฟี (เซอร์เบียก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ทว่าอยู่ในสภาพการณ์ที่แตกต่างออกไป กล่าวคือเซอร์เบียนิ่งเงียบไม่แสดงความเห็นใดๆ ออกมา เนื่องจากผลประโยชน์ด้านข้อตกลงจัดซื้อจัดจ้างทั้งทางการทหารและการก่อสร้าง ที่เซอร์เบียมีอยู่กับกัดดาฟี) จวบจนถึงเวลานี้ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดในเรื่องที่กรุงแอลเจียร์กำลังให้ ความช่วยเหลือโดยตรงต่อกรุงตริโปลีนั้น ปรากฏอยู่ในรายงานของ “แอลจีเรีย วอตช์” (Algeria Watch) อันเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนแอลจีเรียที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ กลุ่มนี้ยืนยันว่ากรุงแอลเจียร์กำลังอำนวยความสะดวกในเรื่องการเดินทางโดย ทางอากาศไปจนถึงลิเบีย ให้แก่พวกทหารรับจ้างจาก ไนเจอร์ และ ชาด ในอดีตที่ผ่านมาแอลจีเรียก็เคยทำสิ่งเดียวกันนี้มาแล้ว ได้แก่ การขนกองทหารไปยังโซมาเลีย เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลหุ่นที่สหรัฐฯหนุนหลังอยู่ ในการต่อสู้กับพวกชนเผ่าในโซมาลีที่ก่อกบฎและถูกตีตราว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”
       ข่าวที่น่ารังเกียจยิ่งกว่านี้อีก ทว่ายังคงไม่ได้รับการยืนยัน ก็คือ เรื่องที่ว่า พ.อ.กาเมล บูซกาเอีย (Colonel Djamel Bouzghaia) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงคนสำคัญของประธานาธิบดี อับเดลาซิซ บูเตฟลิกา (Abdelaziz Bouteflika) แห่งแอลจีเรีย อาจจะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการลักลอบนำเอากองกำลังความมั่นคงส่วน ตัวของประธานาธิบดีซิเน เอล อาบิดิเน เบน อาลี (Zine el-Abidine Ben Ali) แห่งตูนิเซียที่ถูกประชาชนลุกฮือโค่นล้มไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตลอดจนกองกำลังอาวุธรีพับลิกันการ์ด (Republican Guard) ของตูนิเซีย เข้าไปยังลิเบีย ในจำนวนนักรบอันน่าสะอิดสะเอียนประเภทต่างๆ เหล่านี้ มีอยู่พวกหนึ่งที่เป็นพวกนักแม่นปืน ซึ่งได้สังหารผู้ชุมนุมเดินขบวนชาวตูนิเซียในเมืองใหญ่ต่างๆ 3 เมือง ตลอดจนในเวลานี้ก็อาจจะกำลังเข่นฆ่าพลเรือนชาวลิเบียอยู่ก็เป็นได้
** ‘ทัวเร็ก’คือผู้กู้ชีวิต**
       ถ้าหากกัดดาฟีสามารถพึ่งพาอาศัยพวกนักแม่นปืนมือสังหารชาวตูนิเซียมา ทำงานสกปรกให้เขาได้ มันจะต้องพูดอะไรกันอีกเกี่ยวกับชาวทัวเร็ก (Tuareg) ที่เป็นชนเผ่าเร่ร่อนจากดินแดนซาเฮล (Sahel)
       ในอดีตที่ผ่านมา กัดดาฟีมักหาทางเพาะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านของ เขา และชาวทัวเร็กก็มักถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์อันหลงเพ้อ อยู่กับความยิ่งใหญ่ของเขา ในการสร้างชาติ “มหาซาฮารา” (Grand Sahara) ขึ้นรอบๆ ลิเบีย ทั้งนี้โดยที่เขาฉวยใช้ประโยชน์จากความฝันของชาวทัวเร็กที่ปรารถนาจะแบ่งแยก ดินแดนออกมาตั้งประเทศของพวกเขาเอง
       เมื่อสิบปีก่อน บนถนนในเมืองทิมบุกตู (Timbuktu) ประเทศมาลี เพื่อนๆ ชาวทัวเร็กได้จัดแจงให้การศึกษาอบรมแบบลัดสั้นให้แก่ผมในเรื่องเกี่ยวกับการ ก่อกบฎของชาวทัวเร็ก และขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชนเผ่านี้ ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 ชาวทัวเร็กจำนวนมากได้ถูกระดมเข้าไปอยู่ใน “กองทหารอิสลาม” (Islamic Legion) ของกัดดาฟี อันเป็นกองกำลังอาวุธที่จัดตั้งขึ้นโดยใช้เหตุผลข้ออ้างที่ว่าเพื่อทำการ ต่อสู้จัดตั้งรัฐอิสลามที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมาในภาคเหนือของทวีป แอฟริกา โดยที่ในเวลานั้นภูมิภาคซาเฮล-ซาฮาราก็กำลังเผชิญภัยแล้งอย่างต่อเนื่องจน กระทั่งผู้คนมองไม่เห็นหนทางที่จะไปทำมาหากินอะไรอย่างอื่นที่ไหนได้ แต่กองทหารนี้ก็ยืนยงอยู่ได้จนถึงปลายทศวรรษ 1980 จากนั้นจึงถูกยุบทิ้งไป
       กัดดาฟียังได้สนับสนุนให้พวกทัวเร็กก่อการกบฎขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน มาลี และ ไนเจอร์ เขาหว่านเงินให้จัดตั้งค่ายทหารขึ้นในเมืองทิมบุกตู, กาโอ (Gao), และ คิดัล (Kidal) ในประเทศมาลี, เปิดสถานกงสุลแห่งหนึ่งในเมืองคิดัล และใช้เงินดอลลาร์จากน้ำมัน (petrodollar) มาหว่านโปรยเสน่ห์ดึงดูดใจ ชาวทัวเร็กจากภาคเหนือของมาลีนั้นมีความเกลียดชังรัฐบาลกลางในกรุงบามาโก อยู่แล้ว อันที่จริงเห็นได้ชัดเจนว่าชาวทัวเร็กที่เป็นชนเผ่าเร่ร่อนไม่ไว้วางใจ รัฐบาลกลางไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดทั้งสิ้น สิ่งที่พวกเขาต้องการก็คืออำนาจในการปกครองตนเอง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในด้านสุขอนามัย, สาธารณสุข, และการศึกษาตามตำบลเมืองน้อยและหมู่บ้านแถบทะเลทรายที่พวกเขาพำนักอาศัย
       กรุงบามาโก และพวกกบฎทัวเร็ก ได้ลงนามทำข้อตกลงกันในท้ายที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2006 ภายใต้การเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยของแอลจีเรีย ผลของข้อตกลงนี้ในทางทฤษฎีแล้วจะช่วยสร้างสันติภาพและก่อให้เกิดการพัฒนา ขึ้นในเขตคิดัล พวกกบฎมาวางอาวุธกันอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 แต่ก็ยังมีผู้นำกบฎคนหนึ่ง คือ อิบรอฮิม อัก บาฮังกา (Ibrahim Ag Bahanga) ที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเหล่านี้ และไปลี้ภัยอยู่ในลิเบีย
       ในลิเบียก็มีชาวทัวเร็กอาศัยอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่เป็นทะเล ทราย ทว่าเวลานี้กำลังมีข่าวแพร่มาจากกรุงบามาโกว่า มีชาวทัวเร็กอย่างน้อยที่สุด 800 คน ซึ่งมาจากมาลี, บูร์กินาฟาโซ, ไนเจอร์, และแอลจีเรีย ได้เข้าร่วมกับกองกำลังอาวุธของกัดดาฟีแล้ว ถ้าหากคุณเป็นหนุ่มๆ ชาวทัวเร็กที่ไม่มีงานทำ คุณจะต้านทานไหวหรือกับข้อเสนอล่อใจที่ประกอบด้วยเงินสด 10,000 ดอลลาร์ ซึ่งจ่ายให้เมื่อเข้าร่วมกับกองกำลัง บวกกับเงินอีกวันละ 1,000 ดอลลาร์สำหรับค่าสู้รบ
       เวลานี้สิ่งที่แตกต่างออกไปจากในอดีตก็คือ กัดดาฟีดูเหมือนไม่เพียงแต่จะสร้างความแตกแยกระหว่างชาวทัวเร็กกับประเทศ ต่างๆ ซึ่งคนเหล่านี้พำนักอาศัยอยู่เท่านั้น หากยังก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นภายในชุมชนชาวทัวเร็กเองอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาลี, ไนเจอร์, และชาด ก่อนหน้านี้ มีชาวทัวเร็กจำนวนหนึ่งทำงานให้เขาในลิเบียมาหลายปีแล้ว บางคนเป็นสมาชิกของกองทัพลิเบีย พร้อมกับได้สัญชาติลิเบียด้วย แต่ด้วยพลังอันเร้าใจของเงินดอลลาร์จากน้ำมัน เวลานี้จึงมีคนใหม่ๆ เข้าไปรับใช้เขา ถึงแม้มันจะก่อให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวังขึ้นในชุมชนชาวทัวเร็กจำนวนมาก
       ดังที่ อับดู ซัลลัม อัก อัสซาลัต (Abdou Sallam Ag Assalat) ประธานของสมัชชาภูมิภาคในคิดัล บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี ว่า “พวกคนหนุ่มๆ เหล่านี้กำลังเดินทางไปยังลิเบียกันเป็นจำนวนมาก … เจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาคกำลังพยายามตักเตือนเกลี้ยกล่อมพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เคยเป็นกบฎมาก่อน ไม่ให้เดินทางไป แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเลย เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว มันมีทั้งเงินดอลลาร์และอาวุธที่จะให้ไปหยิบฉวย … วันหนึ่งพวกเขาจะต้องกลับมาพร้อมด้วยอาวุธเหล่านี้แหละเพื่อมาสั่นคลอน เสถียรภาพของเขตซาเฮล”
       พวกทัวเร็กเหล่านี้เดินทางออกจากภาคเหนือของมาลี ข้ามเข้าไปยังภาคใต้ของแอลจีเรีย จากนั้นก็ข้ามเข้าสู่ภาคใต้ของลิเบีย มันเป็นการเดินทางอันยากลำบากที่ใช้เวลา 48 ชั่วโมง ปกติแล้วมักไปกันเป็นขบวนใหญ่ๆ แน่นอนทีเดียวว่า “เส้นพรมแดน” ในเขตทะเลทรายเหล่านี้เป็นเพียงภาพมายาที่ไร้ความหมายในทางเป็นจริง ตามรายงานของสื่อแอลจีเรีย การปฏิบัติการคราวนี้อยู่ในการบังคับบัญชาของอดีตผู้นำชาวทัวเร็กจากมาลีผู้ หนึ่ง ซึ่งเวลานี้พำนักอยู่ในลิเบีย ทั้งนี้บุคคลผู้นี้น่าจะได้แก่ อิบรอฮิม อัก บาฮังกา นั่นเอง เราสามารถคาดหมายได้ว่า ถ้าหากในเวลาต่อไปการเดินทางข้ามทะเลทรายเช่นนี้มีบางช่วงบางตอนเป็นการเดิน ทางโดยทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นช่วงจากแอลจีเรียหรือจากชาดก็ตามที นั่นย่อมหมายถึงว่าชาวทัวเร็กเหล่านี้ได้พบกับคนในฝ่ายความมั่นคงของ แอลจีเรีย ที่มาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางเข้าให้แล้ว
       โอกซานา (Oksana) หนึ่งในพยาบาลชาวยูเครนซึ่งคอยดูแลกัดดาฟีอยู่ บอกว่ากัดดาฟีเป็น “นักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่” แต่อันที่จริงเขายังเป็นนักสังคมวิทยาชั้นดีอีกด้วย เพราะเขามองเห็นและก็สามารถทำประโยชน์ได้อย่างมหาศาล จากข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อพินิจพิจารณาจากมุมมองทางด้านสังคมวิทยา, ทางด้านการเมือง, และทางด้านการตัดสินคดีความแล้ว ในเขตซาเฮล-ซาฮารานั้น ไม่มีความเป็นรัฐชาติจริงๆ หรอก สิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้นมาในตอนนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะมาเที่ยวประณามชาวทัวเร็กเลย ในเมื่อทั้งแอลจีเรียและลิเบีย ต่างก็ไม่เคยทำอะไรที่อย่างน้อยที่สุดอาจจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเสียหาย ไปเนื่องจากลัทธิล่าอาณานิคม (เพราะลัทธิอาณานิคมนี่เอง ที่ทำให้ชนเผ่าเร่ร่อนอย่างชาวทัวเร็กต้องกระจัดกระจายกลายเป็นประชากรใน ประเทศต่างๆ ถึง 4 ประเทศ) ทั้งนี้ แอลจีเรียมักจะคอยหาผลประโยชน์รวมทั้งคอยกดขี่ชาวทัวเร็กที่ถูกแบ่งแยกออก เป็นเสี่ยงๆ เช่นนี้เสมอมา ขณะที่สำหรับ “จอมราชันย์แห่งทวีปแอฟริกา” อย่างกัดดาฟี สภาพเช่นนี้แหละที่ทำให้เขาสามารถอาศัยชาวทัวเร็กเป็นกองกำลังสำรองของเขา
เปเป เอสโคบาร์ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Globalistan: How the Globalized World is Dissolving into Liquid War” (สำนักพิมพ์ Nimble Books, ปี 2007) และเรื่อง “Red Zone Blues: a snapshot of Baghdad during the surge” หนังสือเล่มใหม่ของเขาคือเรื่อง “Obama does Globalistan” (สำนักพิมพ์ Nimble Books, ปี 2009) ทั้งนี้สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ที่ pepeasia@yahoo.com