“เอาไม่อยู่” สื่อนอกตีข่าว “รบ.ปู” ล้มเหลวอีกป้องกันน้ำท่วม ส่งผลพื้นที่ 1 ใน 4 ของไทย “จมบาดาล”

       รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์- สื่อต่างประเทศรายงาน รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการป้องกันน้ำท่วมอย่างทันท่วงทีในปีนี้ ทั้งที่รัฐบาลชุดนี้เคยมีประสบการณ์จากมหาอุทกภัยครั้งเลวร้ายเมื่อปีก่อน ส่งผลให้ในเวลานี้ พื้นที่กว่า “1 ใน 4” ของประเทศไทย มีอันต้องจมอยู่ใต้น้ำ ไม่เว้นแม้แต่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่เต็มไปด้วยโบราณสถานล้ำค่าอย่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะที่คนไทยอีกหลายล้านชีวิตได้รับผลกระทบซ้ำเติม ทั้งที่ยังไม่ทันได้ฟื้นตัวจากความเสียหายของอุทกภัยครั้งก่อน
        รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ และสื่อต่างประเทศอีกหลายสำนักระบุว่า สังคมไทยกำลังวิตกกังวลกับความล้มเหลวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 4 รายขณะที่ประชาชนอีกหลายพันคนทางภาคเหนือของไทยต้องทิ้งบ้านเรือนของตนเพื่อ เอาชีวิตรอด หลังฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้น้ำในแม่น้ำหลายสายเอ่อล้นเข้าท่วมบ้าน เรือนตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ระดับน้ำในบางจังหวัดของไทยสูงกว่า 1 เมตร
        สื่อต่างประเทศระบุว่า ภาพที่ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำท่วมซึ่งสูงถึงระดับเอว และภาพของการกั้นกระสอบทรายรอบร้านค้าและบ้านเรือนในจังหวัดสุโขทัย หนึ่งในเมืองหลวงเก่าของไทย ที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เมืองหลวงปัจจุบันไปทางเหนือราว 430 กิโลเมตร ทำให้หลายคนหวนนึกถึง “ฝันร้าย” จากเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 800 ศพ และฉุดรั้งให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2011 ที่ผ่านมาอยู่แค่ 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
        “รอยเตอร์” สำนักข่าวระดับโลกซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1851 ชี้ว่า แม้อุทกภัยที่เกิดขึ้นล่าสุดในไทยดูจะไม่รุนแรงเหมือนเมื่อปีที่แล้ว แต่ภัยพิบัติครั้งใหม่อาจส่งผลร้ายกับรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยภายใต้การนำ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรค “เพื่อไทย” ที่ถูกโจมตีอย่างหนักจากสังคมไทยจาก “การบริหารจัดการที่ผิดพลาด” ต่อวิกฤตอุทกภัยในปี 2011
        ด้าน “ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล” หนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีฐานอยูที่มหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ และมียอดจำหน่ายถึงวันละกว่า 2.1 ล้านฉบับ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอีกในปีนี้จนหลายพื้นที่ของไทยต้องจมอยู่ใต้น้ำภายใน ระยะเวลาอันรวดเร็วนั้น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า มาตรการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในเขตที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ จะสามารถต้านทานกระแสน้ำในปีนี้ได้หรือไม่ ทั้งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ ทุ่มงบประมาณของประเทศไปกว่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.4 แสนล้านบาท) เพื่อวางแผนรับมือน้ำท่วมในปีนี้ หวังสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและนักลงทุนต่างชาติ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไทยยังมิอาจตอบคำถามสังคมได้ว่า “เพราะเหตุใดน้ำจึงท่วมอีก? ” ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีว่า ปริมาณฝนในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วถึง 20 เปอร์เซ็นต์
        สื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังของสหรัฐฯฉบับนี้ยังชี้ว่า น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย แสดงให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ในแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มัวแต่ ให้ความสำคัญกับระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก และที่เขื่อนสิริกิต์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่กลับมองข้ามการรับมือกับน้ำฝนปริมาณมากที่ตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ “ใต้” เขื่อนใหญ่ทั้งสอง ขณะเดียวกัน อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีนี้ยังแสดงให้เห็นความขัดแย้งที่เด่นชัดในเรื่องของ การบริหารจัดการน้ำระหว่างรัฐบาลไทย กับคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยที่เป็นบ้านของประชากรไม่ต่ำกว่า 8.3 ล้านคน ที่ดูเหมือนว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะมีจุดยืนในการรับมือกับน้ำท่วมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

“สรรพากร” เปิดโปง “10 กลวิธี” โกงภาษี! “พลอย” แค่จิ๊บๆ-ผู้รับเหมาคราบนักการเมืองแสบสุด

สรรพากรสรุป 10 วิธีที่บรรดาคนรวย-นักธุรกิจ-นักการเมือง ใช้ในการเลี่ยงภาษี ยิ่งกว่า ‘ดารา’ ชี้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีนักการเมืองเป็นเจ้าของ “ซิกแซ็ก” หลายรูปแบบ แถมยกระดับคนงานเป็นผู้รับเหมาช่วงเพื่อหลบภาษีได้ง่ายๆ ส่วนกลุ่มอสังหาฯ ก็งัดวิชามารเลี่ยงภาษีกันเห็นๆ ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่เลือกแต่งบัญชีเท็จเพื่อให้เจ้าของและหุ้นส่วนรวยทั่ว หน้า สรรพากรบ่นใช้กฎหมายเล่นงานพวกโกงภาษีไม่ได้เพราะถูกนักการเมืองบีบ ‘พวกข้าใครห้ามแตะ’
       กรณี พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ที่มีความขัดแย้งกับบริษัทออร์แกไนซ์ จนเป็นที่มาของการเปิดโปงให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า เธอใช้บัตรประชาชนของพ่อคนขับรถเธอเอง มารับเงินแทนเพื่อจะได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 3 ของเงินที่ได้รับ แทนที่จะถูกหักร้อยละ 5 ตามกฎหมาย
       นี่คือเหตุผลสำคัญที่กระทรวงการคลังมอบหมายให้กรมสรรพากร เตรียมเปิดเวทีเชิญดารานักแสดง พิธีกร นักกีฬาที่เป็นบุคคลสาธารณะ มารับฟังแนวทางการเสียภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีแก่ประชาชนทั่วไปในการเสียภาษีต่อไป
       อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร ระบุว่า การเลี่ยงภาษีที่เกิดขั้นนั้นไม่ใช่มีเฉพาะอาชีพดารา หรือกรณีข่าวของ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (ดามาพงศ์-ชินวัตร) อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเลี่ยงภาษีอากร มูลค่า 546 ล้านบาทเท่านั้น
       แต่ข้อเท็จจริงแล้ว มีบุคคลที่มีรายได้สูงจำนวนมาก โดยเฉพาะบรรดานักธุรกิจการเมือง หรือนักการเมืองที่มีอิทธิพลต่างๆ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ล้วนแต่หาช่องทางที่จะเลี่ยงภาษีเพื่อให้เขาและบริษัทของเขาจ่ายภาษีน้อยที่ สุดเท่าที่กฎหมายเปิดช่องไว้
       “มันเป็นการวางแผนภาษีเพื่อให้จ่ายน้อยที่สุด ซึ่งจะทำอย่างนี้ได้ต้องมีคนชี้แนะ ตั้งแต่นักบัญชี บริษัทที่ปรึกษาทางบัญชี และเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรร่วมกันดำเนินการให้”

       สำหรับกลวิธีในการเลี่ยงภาษีที่นิยมกระทำกันตลอดมาทั้งในส่วนของการ เสียภาษีบุคคลและในรูปนิติบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมสรรพากร ได้สรุปให้ “ASTV ผู้จัดการรายวัน” ฟัง ประกอบด้วย
1. การตั้งตัวแทนเชิด คือ การตั้งบุคคลอื่นหรือบริษัทเป็นผู้มีรายได้และเสียภาษีแทนตน ซึ่งมีผลให้ตัวเองเสียภาษีน้อย หรือหากมีปัญหาฟ้องร้องทางกฎหมายก็จะยากขึ้น กรณีเช่นนี้ก็เหมือนกับที่พลอย เฌอมาลย์ ให้คุณลุงวัย 77 ปี รับเงินแทนเพื่อประหยัดภาษีนั่นเอง
สำหรับวิธีการตั้งตัวแทนเชิดนั้น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซึ่งส่วนใหญ่บรรดานักการเมืองทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ล้วนเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งคนกลุ่มนี้กรมสรรพากรอยากจะบอกว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่เลี่ยงภาษีมากใน อันดับต้นๆ
โดยเฉพาะบริษัทรับเหมาก่อสร้างราย ใหญ่ จะใช้วิธีหารายชื่อคนงานแล้วให้คนงานของตนเองเป็นผู้รับเหมารายย่อย โดยเงื่อนไขสำคัญของคนที่จะถูกเชิดให้เป็นผู้รับเหมารายย่อยนั้นต้องไม่ให้ มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท เพื่อเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
       “จุดประสงค์ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้เขาประหยัดภาษีมากขึ้น ซึ่งความจริงเงินจำนวนที่ถูกถ่ายออกไปก็เข้ากระเป๋าพวกเขากันเอง”
       นอกจากบรรดาบริษัทรับเหมาก่อสร้างจะนิยมใช้วิธีการดังกล่าวแล้ว กรมสรรพากรยังพบว่าบรรดากิจการขนส่งสินค้าก็นิยมกระทำเช่นกัน ด้วยการเอาชื่อลูกน้องในการรับส่งสินค้าแทน เพื่อหลีกเลี่ยงรายได้แท้จริงของตนเอง

2. การตั้งคณะบุคคล เป็นการก่อตั้งคณะบุคคลหลายๆ คณะ จุดประสงค์เพื่อแตกฐานเงินได้ให้เล็กลง โดยมีชื่อตนเองในทุกคณะ ทำให้เสียภาษีน้อยลง และยังสามารถหักค่าใช้จ่ายในแต่ละคณะได้อีก
       “พวกที่มีอาชีพอิสระ ที่ปรึกษา ศิลปินดารา หรือพวกที่มีรายได้สูงๆ นิยมทำมาก อย่างดาราที่เป็นข่าวโด่งดังก็ ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ที่ใช้วิธีการนี้เลี่ยงภาษี ซึ่งชมพู่บอกว่าที่ทำแบบนี้เพราะไม่รู้และได้รับคำแนะนำจากเพื่อนๆ ยืนยันว่าต่อไปเธอจะไม่ใช้วิธีนี้ เพราะเท่ากับเป็นการโกงภาษีรัฐ” แหล่งข่าวกรมสรรพากร ระบุ
3. ทำให้บริษัทขาดทุน วิธีการนี้เป็นที่นิยมทำกันแพร่หลายในทุกๆ ประเภทกิจการ โดยเฉพาะบริษัทรับเหมาก่อสร้าง จะใช้วิธีการสร้างรายจ่าย หรือบิลรายจ่ายมาเบิกบริษัทให้มากที่สุด เมื่อถึงปลายปีก็จะพบว่าบริษัทขาดทุนและไม่สามารถเสียภาษีได้ ส่วนที่มีการหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว ก็มีโอกาสจะได้คืน เนื่องจากบริษัทไม่มีกำไรและยังขาดทุน
       ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่าบริษัทเหล่านี้มีการกระทำอีกหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ให้บริษัทกู้ยืมเงินจากกรรมการบริษัทของตนเองเพื่อหลบยอดรายได้หรือยอดขาย และเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนของดอกเบี้ยบริษัท
       “นักการเมืองบางคนใช้ชื่อบริษัทสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าเอาวัสดุที่ซื้อไปก่อสร้างบ้านตัวเองราคาหลายล้าน แต่กลับนำบิลมาเบิกเป็นรายจ่ายบริษัทแทน”
เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเล่าอีกว่า ที่น่าตลกที่สุด บริษัทรับเหมาก่อสร้างทำถนน แต่กลับมีการสั่งซื้อ “สี” เป็นจำนวนมากมาหักภาษีซื้อ และยังมีการนำบิลรายจ่ายอื่นๆ ที่ใช้เป็นการส่วนตัว แล้วมีการแต่งตัวเลขให้สูงขึ้น จากนั้นนำมาตัดจ่ายในบัญชีของบริษัท

4. การหลบยอดขายและยอดซื้อ ซึ่ง หมายถึงบริษัทมีการแต่งบัญชีโดยให้ยอดขายเกิดขึ้นเท่าที่ต้องการจะเสียภาษี เช่นมียอดขายสินค้า 200 รายการ แต่มีการเปิดบิลหรือมียอดขายตามบิลแค่ 80 รายการ ซึ่งวิธีนี้บรรดาบริษัท ห้างหุ้นส่วน นิยมกระทำมาก
       “พวกนี้จะนิยมแต่งบัญชี คือเขาจะมีบัญชี 1 และบัญชี 2 ซึ่งเขาจะรู้ว่าบัญชีไหนไว้ใช้ยื่นเสียภาษี ซึ่งจริงๆ แล้วมันผิดกฎหมาย แต่โทษบ้านเราก็แค่ปรับ พวกนี้จึงไม่เกรงกลัว”
5. การซื้อใบกำกับภาษี ที่ นิยมกันก็คือการซื้อใบกำกับภาษีซื้อของผู้ประกอบการค้าน้ำมันมาเป็นยอดราย จ่ายของบริษัทตน ทั้งนี้เพราะผู้เติมน้ำมันรายย่อยมักไม่ขอใบกำกับภาษีอยู่แล้ว
       “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมักขอซื้อใบกำกับภาษีดังกล่าวเพื่อนำไปขอคืนภาษีจากรัฐ เพื่อทำให้เสียภาษีน้อยลง”
6. การหลีกเลี่ยงโดยผ่านระบบบัญชี วิธี นี้นักบัญชีของบริษัทจะรู้กันกับเจ้าของกิจการ หุ้นส่วนบริษัท หรือบอร์ดบริษัท ที่ต้องการจะมีการประหยัดเงินและนำผลกำไรให้กับเจ้าของกิจการตัวจริงและหุ้น ส่วนมากที่สุด ก่อนที่จะนำบัญชีบริษัทส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองอีกขั้นตอนหนึ่ง
       “วิธีการนี้เป็นการสร้างบัญชีเท็จ ด้วยการกำหนดรายจ่ายต่างๆ เข้ามาเบิกในบัญชีบริษัทหรือค่าที่ปรึกษา ค่าโบนัสให้กับกรรมการหรือพนักงาน แต่ข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพียงแต่เป็นการวางแผนทางภาษีเพื่อให้บริษัทเสียภาษีน้อย แต่เจ้าของกิจการได้กำไรมากๆ”

7. การตั้งบริษัทเพื่อเจตนาออกใบกำกับภาษีซื้อปลอม วิธีการนี้จะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาหลายๆ แห่ง และมีการออกใบกำกับภาษีซื้อขายแก่กันเป็นทอดๆ โดยข้อเท็จจริงแล้วบริษัทไม่ได้มีการทำกิจการจริง แต่ใช้วิธีการโอนกลับไปกลับมาเท่านั้น
       “เขาเจตนาโกงภาษี ทำทีมีการส่งออกสินค้า และมีการปลอมใบสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ แล้วนำมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม”
8. การซื้อบิลจริง แต่ไม่มีการกระทำจริง วิธีการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยอาศัยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ มาเป็นเงื่อนไขในการจ่ายภาษี
       ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตสินค้ารายหนึ่ง ต้องการประหยัดภาษีรายได้ เนื่องจากบริษัทมีกำไรมาก จึงใช้วิธีการติดต่อขอซื้อใบเสร็จ โดยอ้างว่าเป็นค่าการตลาด (ประชาสัมพันธ์) ในสื่อต่างๆ ในวงเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วบริษัทนี้ไม่ได้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์นี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว และบริษัทที่ทำโฆษณาก็ยอมออกใบเสร็จให้
“นี่เป็นวิธีการโกงภาษี ที่มีผู้ร่วมกระทำหลายคน คือบริษัทผลิตสินค้า และบริษัทผลิตสื่อโฆษณา เพราะวงเงิน 20 ล้านบาทที่บริษัทต้องการนำไปหักภาษีนั้น ข้อเท็จจริงเขาจ่ายให้บริษัทผลิตสื่อแค่ส่วนของการหักภาษีรายได้ 2% (ภาษีจ้างทำของ) และมีการตกลงส่วนต่างกันอีกประมาณ 10% เท่านั้น”
       ผลที่ตามมาก็คือบริษัทผลิตสินค้ารายนั้น ได้นำใบเสร็จ 20 ล้านบาทไปหักในรายได้บริษัท มีผลทำให้เขาประหยัดภาษีได้มาก ขณะเดียวกันเขาก็เสียเงินให้กับบริษัทผลิตสื่อแค่ประมาณ 2 ล้านที่ถือเป็นเงินใต้โต๊ะเท่านั้น

9. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เลี่ยงภาษีแบบเห็นๆ สำหรับ วิธีการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจพัฒนาที่ดินที่นิยมเลี่ยงภาษีกัน มากส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็ก รายกลาง และอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด จะกระทำโดยการแบ่งขายและประกาศขายที่ดินเปล่าเท่านั้น
       “หากสรรพากรไปตรวจบริษัทเหล่านี้จะอ้างว่า เขาขายเฉพาะที่ดินเปล่า และผู้ซื้อไปว่าจ้างปลูกบ้านกันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเขา”
ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว เป็นการขายที่ดินพร้อมบ้าน แต่แบ่งแยกเป็น 2 สัญญา คือสัญญาซื้อขายที่ดิน กับสัญญาว่าจ้างปลูกบ้าน เพื่อเลี่ยงภาษีรายได้ในส่วนของการปลูกบ้านที่ไม่ต้องจ่ายให้กับรัฐ
10. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทคอนโดมิเนียม ของ นักพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ ที่ดำเนินการในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวหลายจังหวัด จะมีการประกาศขายห้องชุดเพียงบางส่วน และมีการเก็บห้องชุดอีกส่วนหนึ่งไว้เพื่อใช้ประกอบกิจการโรมแรม
       “บริษัทพวกนี้จะไม่ยอมแสดงรายได้ที่เกิดจากการให้บริการกิจการโรมแรม เพราะรายได้จำนวนนี้ความจริงแล้วต้องนำมาคำนวณ vat เขาก็หลบเลี่ยง ซึ่งสรรพากรก็ต้องไปติดตามเพื่อให้เขาเสียภาษีและมีรายได้เข้ารัฐ”
แหล่งข่าวอธิบายอีกว่า ปัญหาสำคัญที่สุดของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ก็คือ เมื่อไปตรวจพบการเลี่ยงภาษีและบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถหาหลักฐานมาหักล้าง ได้ ผู้เลี่ยงภาษี หรือโกงภาษี ก็จะใช้อิทธิพลทางการเมืองเข้ามาบีบข้าราชการที่ปฏิบัติงานทันทีเช่นกัน
       “พวกเราเจอนักการเมืองบีบมาตลอด โดยเฉพาะพวกธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั่วประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นของนักการเมือง ต้องบอกว่าพวกนี้มีประตูเลี่ยงภาษีเยอะที่สุด และชอบใช้อำนาจข่มขู่ข้าราชการเพื่อไม่ให้พวกเราสืบสาวที่มาที่ไปมาก เพราะรู้อยู่แล้วว่าบริษัทตัวเองโกงภาษี”
ถึงเวลาแล้วที่กรมสรรพากรจะ ต้องดำเนินการกับผู้ที่เลี่ยงภาษีทุกราย และจะต้องไม่กระทำเฉพาะกับศิลปินดารา แต่จะต้องดำเนินการเปิดโปง บริษัท นักธุรกิจ นักการเมืองทุกรายที่เลี่ยงภาษีให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อไม่ให้บริษัท หรือบุคคลอื่นๆ เอาเป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

ที่มา ผู้จัดการ Online