ผลประโยชน์ “ไทยพรีเมียร์ลีก” เมื่อตอเริ่มผุด

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลไทยก็ว่าได้ ที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ถูกตรวจสอบ-ซักฟอก อย่างเข้มข้น จากผู้เป็นสมาชิก ในเรื่องการดำเนินงานที่คลุมเครือ ไม่โปร่งใส โดยเฉพาะเรีองผลประโยชน์ เงินๆ ทองๆ เมื่อ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสร ปราสาทสายฟ้า บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตั้งคำถามกับ บริษัทไทยพรีเมียร์ ลีก ผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย ไทยพรีเมียร์ลีก และไทยลีก ดิวิชัน 1
       นายเนวินถามว่า รายได้จากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขัน รายได้จากสปอนเซอร์ รวมกันประมาณ 200 ล้านบาท หายไปไหน ทำไมบริษัทไทย พรีเมียร์ลีก จึงไม่มีเงินมาจ่ายรางวัลให้กับสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีกเมื่อฤดูกาลที่แล้ว
       บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก ซึ่งควรจะต้องเป็นผู้ตอบคำถามนี้ เพราะเป็นเจ้าของสิทธิในการจัดการแข่งขัน ตอบไม่ได้ นายวิชิต แย้มบุญเรือง ประธานกรรมการบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกเอง ก็ตอบไม่ได้
       ในยุคที่สื่อโซเชียลมีเดีย มีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางกว่า เข้าถึงมากกว่า รวดเร็วกว่า และตรงไปตรงมามากกว่า สื่อหนังสือพิมพ์ และทีวี วิทยุ อำนาจการควบคุมสื่อของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ใช้การจ่ายผลประโยชน์ต่างตอบแทนเป็นเครื่องมือ ไม่สามารถแทรกแซง ปิดกั้น การเดินทางของข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ได้ ภาพและเสียงของนายเนวิน ที่ถามว่าเงินหายไปไหนในการประชุมร่วมกันของสโมสรสมาชิกไทยพรีเมียร์ลีก เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ถูกโพสต์ลงในเว็บไซต์ยูทิวบ์ จึงแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว และทำให้นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ไม่อาจนิ่งเฉย โดยหวังว่าเมื่อสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ปิดปากตัวเองแล้ว เรื่องจะเงียบไปเองได้
       บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคต จำกัด (มหาชน) ผู้รับสิทธิ การดูแลผลประโยชน์ ไทยพรีเมียร์ ลีก ต้องเป็นผู้แถลงข่าว ชี้แจงแทนบริษัท ไทยพรีเมียร์ ลีก และสมาคมฟุตบอล ทั้งๆ ที่โดยหลักการแล้ว เป็นเรื่องระหว่างสมาชิกสโมสร กับบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก นายเนวิน ถามบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกว่า เงินหายไปไหนในกรณีนี้สยามสปอร์ตฯ เป็นบุคคลที่ 3 หน้าที่การชี้แจง ควรเป็นหน้าที่ของบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก หรือสมาคมฟุตบอลมากกว่า แต่ไทยพรีเมียร์ลีก หรือสมาคมฟุตบอลตอบไม่ได้ เพราะเงิน 200 ล้านบาทนั้น ไม่ได้เข้ามาที่บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก หรือสมาคมฟุตบอลเลย แต่อยู่กับสยามสปอร์ตฯ นั่นเอง
       ด้วยเหตุนี้กระมัง เมื่อเรื่องนี้ ทำท่าว่านายวรวีร์จะเอาไม่อยู่ สยามสปอร์ตฯ จึงใช้วิธีสละเรือทิ้งกลางคัน ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ ไทยพรีเมียร์ ลีก โดยใช้น้ำเสียง ท่วงทำนองที่แสดงความน้อยอกน้อยใจว่า อุตส่าห์เสียสละ ตั้งอกตั้งใจพัฒนาฟุตบอลอาชีพ จากที่เคยล้มลุกคลุกคลาน จนประสบความสำเร็จได้ในทุกวันนี้ยังมาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่โปร่งใสอีก จึงขอยุติการทำหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ การแข่งัขนฟุตบอลอาชีพดีกว่า
ความจริงแล้ว การปลุกปั้นไทยลีก และลีกอาชีพอื่นๆ ของสยามสปอร์ตฯ นั้น ไม่ใช่ความเสียลสะให้กับวงการฟุตบอลไทย แต่เป็นการลงทุน โดยหวังผลประโยชน์ทั้งที่เป็นผลประโยชน์ทางตรง จากการจัดการแข่งขัน และผลประโยชน์ทางอ้อมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจฟุตบอลของสยามสปอร์ตฯ ซึ่งเป็นธุรกิจขายเนื้อหา ทั้งผลการแข่งขัน และอัตราต่อรองได้เสีย รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่เป็นคู่มือที่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผู้มีรายได้น้อย ใช้ประกอบการตัดสินใจในการพนันบอล
การลงทุนสร้างฟุตบอลลีกอาชีพให้เกิดขึ้นในไทย คือ การสร้างโปรดักต์ใหม่ที่เมดอินไทยแลนด์ เพื่อขยายตลาดธุรกิจฟุตบอล ซึ่งมีผลประโยชน์มากมาย หลายหลากทั้งเปิดเผย และแฝงเร้น ตั้งแต่การขายข้อมูลสำหรับการพนัน การหารายได้จากสปอนเซอร์ ไปจนถึงโต๊ะพนันบอล
       งบกำไร ขาดทุนที่สยามสปอร์ตฯ จำเป็นต้องเล่นตามเกมที่นายเนวินเปิดขึ้นมา นำออกมาชี้แจงต่อ ที่ประชุม สโมสรสมาชิก เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมานั้น หากดูแต่เฉพาะ บรรทัดสุดท้าย ก็จะเห็นใจสยามสปอร์ตฯ ว่า รายได้จากการเป็นผู้ดูแลประโยชน์ การแข่งขันฟุตบอลอาชีพ น้อยมาก ไม่คุ้มการกับลงทุนลงแรงเลย เพราะมีกำไรแค่ 8 ล้าน 5 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งต้องแบ่งครึ่งระหว่างสยามสปอร์ตฯ กับบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก แต่ถ้าไปดูรายจ่ายบางรายการ ก็จะพบว่ามีรายได้แอบแฝงอยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าเข้ากระเป๋าใคร เช่น ค่ามาร์เกตติ้ง ในการหาสปอนเซอร์ 25 ล้านบาท ค่าถ่ายทอดทางช่อง 11 เป็นเงิน 26 ล้านบาท ค่าถ่ายทอดสด ลีกดิวิชัน 1 ทางทรูช่อง 69 เป็นเงิน 12 ล้านบาท ค่าถ่ายทอดสดลีกดิวิชัน 2 ทางทรูช่อง 69 และ 74 เป็นเงิน 5.7 ล้านบาท
       การถ่ายทอดสดทางช่อง 69 และ 74 ของทรูนั้น มีโฆษณา แต่ในงบกำไรขาดทุนที่สยามสปอร์ตฯ ชี้แจงนั้น ไม่มีรายรับรายการนี้ มีแต่รายจ่ายคือ ค่าถ่ายทอดสด จึงน่าสงสัยว่าเงินค่าโฆษณานี้ไปอยู่กับใคร
       ในที่ประชุม เมื่อวันที่ 20 เมษายน คำถามหนึ่งที่นายเนวิน ถามนายวรวีร์คือ ระหว่างสยามสปอร์ตฯ กับบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก มีสัญญาแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่งนายวรวีร์ตอบว่ามีนายเนวินถามว่าจะขอดูได้ไหม นายวรวีร์ตอบว่าต้องทำหนังสือขอเป็นทางการมา
       เพราะการที่สยามสปอร์ตฯ ประกาศถอนตัวอย่างฉับพลัน เป็นเรื่องผิดปกติ เนื่องจากการทำสัญญาแบบนี้ จะต้องมีเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญา มีข้อกำหนดความรับผิดชอบของคู่สัญญา กรณีเลิกสัญญาก่อนกำหนด แต่การที่สยามสปอร์ตสามารถเลิกสัญญาได้ในทันที โดยไม่ต้องคำนึงถึง ข้อผูกพันที่มีกับสปอนเซอร์ ทำให้นายเนวิน คิดว่า สยามสปอร์ตฯ กับไทยพรีเมียร์ลีก อาจจะไม่มีสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
นายเนวินจะมีวัตถุประสงค์อย่างไร ในการตรวจสอบบริษัไทยพรีเมียร์ลีกในครั้งนี้ก็ตามแต่ แต่คำถามของเขาที่นายวรวีร์ และนายวิชิตตอบไม่ได้ ต้องให้สยามสปอร์ตฯ ตอบแทนนั้น ยิ่งตอบ ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพความไม่โปร่งใสในธุรกิจกีฬาฟุตบอลอาชีพชัดเจนขึ้น

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์